อะมังอัส (Among Us) เป็นวิดีโอเกมหลายผู้เล่นที่พัฒนาและเผยแพร่โดยบริษัทอินเนอร์สลอธ เกมมีฉากในอวกาศและมีการสุ่มผู้เล่นให้มีโอกาสเป็นได้ทั้งลูกเรือ (Crewmates) หรืออิมพอสเตอร์ (Impostors, เอเลียนที่แฝงตัว) ที่กำหนดจำนวนได้ เป้าหมายของลูกเรือคือการทำภารกิจต่าง ๆ ให้สำเร็จ พร้อมทั้งหาตัวและกำจัดอิมพอสเตอร์ ส่วนอิมพอสเตอร์มีเป้าหมายในการปกปิดตัวตน ทำลายส่วนต่าง ๆ ในแผนที่ และฆ่าลูกเรือก่อนพวกเขาทำภารกิจสำเร็จ ภายในเกมมีการคัดผู้เล่นที่ต้องสงสัยออกผ่านทางการลงคะแนนเสียงข้างมาก โดยลูกเรือจะเป็นฝ่ายชนะเมื่ออิมพอสเตอร์ถูกกำจัดจนหมดหรือทำภารกิจได้ครบ ขณะที่อิมพอสเตอร์จะเป็นฝ่ายชนะหากส่วนที่ถูกทำลายไม่ได้รับการซ่อมแซม หรือจำนวนลูกเรือเหลือเท่ากับอิมพอสเตอร์ อะมังอัส เปิดตัวในปี 2018 ก่อนได้รับความนิยมในปี 2020 ทำให้อินเนอร์สลอธประกาศสร้าง อะมังอัส 2 ในเดือนสิงหาคม 2020 แต่ภายหลังได้ยกเลิกแล้วหันไปปรับปรุงเกมเดิมแทนอะมังอัส เป็นวิดีโอเกมหลายผู้เล่นที่รองรับผู้เล่น 4–10 คน ผู้เล่น 1–3 คนจากผู้เล่นทั้งหมดจะถูกสุ่มให้เป็นอิมพอสเตอร์ ส่วนที่เหลือจะเป็นลูกเรือ เกมมี 3 แผนที่ได้แก่ ยานอวกาศ (The Skeld) ศูนย์บัญชาการ (Mira HQ) และฐานบนดาวเคราะห์ (Polus) ผู้เล่นที่เป็นลูกเรือจะได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจต่าง ๆ เช่น ซ่อมแซมระบบไฟฟ้า รับส่งข้อมูล หรือกำจัดขยะ ขณะที่อิมพอสเตอร์จะแฝงตัวอยู่ในหมู่ลูกเรือ มีความสามารถในการทำลายส่วนต่าง ๆ ในแผนที่ เดินทางผ่านช่องระบายอากาศ ทราบตัวอิมพอสเตอร์คนอื่น และฆ่าลูกเรือได้ หากผู้เล่นถูกฆ่า/ถูกคัดออกจะกลายเป็นผี (Ghosts) ที่สามารถเดินทางในแผนที่ได้อย่างอิสระ มีมุมมองไม่จำกัด ช่วยลูกเรือทำภารกิจ/ช่วยอิมพอสเตอร์ทำลายส่วนต่าง ๆ พูดคุยได้ตลอดเวลาแต่เฉพาะกับผีด้วยกันเท่านั้น แต่จะไม่สามารถลงคะแนนเสียงและผู้เล่นที่มีชีวิตอยู่จะมองไม่เห็น ทั้งลูกเรือและอิมพอสเตอร์จะมีมุมมองภาพแบบโคน ถึงแม้เกมจะมีมุมมองแบบมองลงมาก็ตาม
ขณะที่เกมดำเนินไป ผู้เล่นจะ “รายงาน” เมื่อพบศพ ทำให้เกมหยุดชั่วคราวแล้วมีการเปิดให้พูดคุย ผู้เล่นมักสอบถามข้อมูลจากผู้เล่นอื่นหรือใช้ระบบติดตามในแผนที่เพื่อระบุตัวอิมพอสเตอร์ก่อนลงคะแนนเสียง หากผู้เล่นคนใดได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจะถูกคัดออกและตาย นอกจากนี้ผู้เล่นที่ยังมีชีวิตสามารถเรียก “ประชุมฉุกเฉิน” ได้ทุกเวลายกเว้นตอนความเสียหายในแผนที่ดำเนินอยู่ผู้เล่นมักใช้โปรแกรมภายนอกอย่างดิสคอร์ดในการพูดคุยด้วยเสียง เนื่องจากภายในเกมสามารถสื่อสารได้ด้วยข้อความเท่านั้น ก่อนเริ่มเกม ผู้เล่นสามารถแก้ไขส่วนต่าง ๆ ในเกม เช่น เลือกแผนที่ กำหนดความเร็วในการเคลื่อนที่ หรือตั้งระยะเวลาในการลงคะแนนเสียง นอกจากนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ตัวละครตัวเองได้
อะมังอัส ได้รับแรงบันดาลใจจากเกม มาเฟีย หรือ แวร์วูฟ เปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2018 โดยได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อย ก่อนจะเริ่มได้รับความนิยมอย่างสูงช่วงกลางปี 2020 เมื่อยูทูบเบอร์และสตรีมเมอร์ทวิตช์ที่มีชื่อเสียงหลายคนเล่นเกมนี้ ระหว่างเดือนกันยายน–ตุลาคม 2020 ยอดเข้าชมวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับ อะมังอัส ในยูทูบมีมากกว่า 4 พันล้านครั้ง ส่วนยอดเข้าชมวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับเกมนี้ในติ๊กต็อกมีมากกว่า 13,000 ล้านวิว แอสโซซิเอตด์เพรส รายงานว่า อะมังอัส เป็นเกมที่มียอดขายสูงสุดบนแอปสโตร์ในเดือนตุลาคม 2020 จากข้อมูลของซูเปอร์ดาตารีเสิร์ชในเดือนพฤศจิกายน 2020 มีผู้เล่นเกมนี้ประมาณ 5 ร้อยล้านคนทั่วโลก
เสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่ต่อ อะมังอัส เป็นไปในทางบวก เอฟเวอลีน เหลาจากหนังสือพิมพ์ เดอะเนชันแนล กล่าวว่า “การได้เห็นผู้เล่นพยายามเดาว่าใครเป็นอิมพอสเตอร์ (และบางครั้งก็เดาผิดมาก ๆ) หรือโกหกได้แย่สุด ๆ ว่าตัวเองไม่ใช่อิมพอสเตอร์นั้นเป็นความบันเทิงโดยแท้” ขณะที่เครก เพียร์สันจากเว็บไซต์ ร็อก, เปเปอร์, ช็อตกัน กล่าวว่าการเล่นเป็นอิมพอสเตอร์นั้น “สนุกกว่า” การเล่นเป็นลูกเรือ ซึ่งเขามองว่า “น่าเหน็ดเหนื่อย”วิดีโอเกมหลายผู้เล่น (Multiplayer video game) หรือ โหมดผู้เล่นหลายคน เป็นการเล่นที่ผู้เล่นหลายคนสามารถเล่นได้ในสภาพแวดล้อมเดียวกันภายในเกมได้มากกว่าหนึ่งคน ไม่เหมือนกับเกมประเภทอื่น ๆ เกมคอมพิวเตอร์และวิดีโอเกมมักจะมีเนื้อหาในโหมดผู้เล่นคนเดียว ซึ่งเป็นการเล่นระหว่างผู้เล่นกับการท้าทายที่มีการเขียนโปรแกรมมากแล้วก่อนหน้านี้ หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมักจะขาดซึ่งความยืดหยุ่นและมีความฉลาดไม่เท่ากับการคิดของมนุษย์
องค์ประกอบของการเล่นหลายคนทำให้ผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้เล่นคนอื่น อาจอยู่ในรูปแบบของการร่วมมือกัน การแข่งขันกันหรือคู่ปรับกัน และทำให้ผู้เล่นมีการติดต่อสื่อสารทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในโหมดผู้เล่นคนเดียว ในเกมหลายผู้เล่นจำนวนมาก ผู้เล่นอาจดำเนินการแข่งขันกับผู้เล่นตั้งแต่สองคนขึ้นไปอย่างเป็นคู่แข่งกัน ทำงานร่วมกันกับเพื่อนที่เป็นผู้เล่นคนอื่นเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน การดูแลกิจกรรมของผู้เล่นคนอื่น หรืออาจมีลักษณะของเกมที่ผสมผสานการเล่นทั้งหมดดังที่กล่าวมา เกมหลายผู้เล่นจำเป็นจะต้องมีการแบ่งปันทรัพยากรของระบบผู้เล่นคนเดียว หรือใช้เทคโนโลยีเครือข่ายเพื่อให้ผู้เล่นสามารถเล่นด้วยกันได้ แม้จะอยู่ห่างไกลกันมากก็ตาม